top of page

Valse in D flat Major op.64 no.1


                Waltz (Valse) คือ การเต้นรำเป็นคู่ในอัตราจังหวะ 3 ส่วน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วยุโรปและอเมริกาในต้นศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลานั้นมี public dance hall และชมรมเต้นรำเกิดขึ้นมากมาย เพลงเต้นรำ Waltz จึงได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน ต่อมามีการประพันธ์เพลง Waltz สำหรับบรรเลงเปียโนในปี ค.ศ. 1819 โดย Carl Maria Von Weber และ ในปีค.ศ. 1821 โดย F. Schubert  และงานของนักประพันธ์ทั้งสองนี้ได้กลายเป็นต้นแบบ
การประพันธ์เพลง Waltz สำหรับ F.Chopin ในเวลาต่อมา

                Chopin แต่งเพลง Waltz ตลอดช่วงชีวิตของเขา นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1829 ตอนเขาอายุ 19 ปี จนกระทั่งปี
ค.ศ. 1847 ก่อนเสียชีวิต เขามีความทรงจำที่ดีและประทับใจการเต้นรำมาตั้งแต่วัยเด็กตลอดจนช่วงที่เขาได้เยือนเวียนนา ประเทศออสเตรีย เขาพบว่าบทเพลง Waltz ได้รับความนิยมมากและเป็นเพลงเต้นรำที่มีการเรียบเรียงทำนองกันอย่างจริงจังอีกด้วย สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจให้เขาและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาบทเพลง Waltz ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาบ้าง เช่นเดียวกับ Weber และ Shubert บทเพลง Waltz ของ Chopin ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อให้นำไปใช้ประกอบการเต้นรำจริง แต่แต่งขึ้นเพื่อเป็นเพลงบรรเลงเปียโนสำหรับฟังเพื่อความเพลิดเพลิน

                สำหรับเพลง Valse in D flat major op.64 no.1 Chopin ได้แต่งขึ้นในปีค.ศ. 1847 ช่วงท้ายของชีวิต และตีพิมพ์ในปีเดียวกัน เป็นหนึ่งในสามเพลง Valse ชุด op.64  เขาอุทิศเพลงนี้ให้กับท่านหญิง Delfina Potocka
ผู้เป็นลูกศิษย์และเป็นเพื่อนที่เขาระลึกถึงอยู่เสมอ เดิม Chopin ได้ให้ชื่อเพลงนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า Valse du Petit Chien หรือ Waltz of little dog เนื่องจากเขาได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากพฤติกรรมของลูกสุนัขที่วิ่งไล่
หางของตัวเอง เพลงนี้เป็นเพลงสั้น กระทัดรัด มีทำนองที่มีชีวิตชีวา ร่าเริง สดใส  และมีการไล่เสียงคล้ายกับการวิ่งวนไปมา อีกทั้งความมีชีวิตชีวาของเพลงนี้ยังตรงกับลักษณะนิสัยของ Potocka ผู้เป็นลูกศิษย์ด้วย สำนักพิมพ์ได้ตีพิมพ์เพลงนี้
ในอีกชื่อหนึ่ง คือ Minute Waltz ทำให้เพลงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมเล่นกันให้จบในเวลาประมาณหนึ่งนาทีเศษ ซึ่ง
ในความเป็นจริงแล้วคำว่า Minute นี้ สำนักพิมพ์หมายถึงคำว่า Miniature หรือสิ่งที่มีขนาดเล็กมาก เพลงนี้จึงเป็นเพลงเต้นรำเล็กๆ น่ารัก จังหวะเร็วปานกลาง

Copyright © 2020 Krongkwan Tassanapak

bottom of page