top of page
Search

ดนตรีจินตนาการกับการเต้นรำที่เคลื่อนไหวในความฝัน

เราชอบเพลงของ Debussy มาก เป็นเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าดนตรีที่เพราะแบบละเมียดละไมยังมีอยู่จริง ดนตรีแบบที่ไม่จำเป็นต้องเร็วๆ แรงๆ หรือพยายามสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ เพลงของ Debussy นั้นสวยงามด้วยทำนองและวิธีการนำเสนอ

Suite Bergamasque เป็นเพลงที่พัฒนาและได้ inspire จากเพลง Suite ที่เคยบูมในช่วงบาโรคและหายไปอยู่พักหนึ่ง ในช่วงศ.ต.ที่ 20 ที่ repertoire classic เริ่มอิ่มตัวมากๆ composer ทั้งหลายเริ่มนำบทเพลงเหล่านั้นมาศึกษาและพัฒนาต่อยอดให้ต่างออกไป Suite เป็นเพลงเต้นรำที่ไม่ได้ทำให้คนเต้นจริงๆหรอก แต่ไว้บรรเลงสวยๆ สื่อ character ความมีชีวิตชีวาของการเต้นรำมากกว่า Debussy เริ่มเขียนเพลงนี้ในช่วงปี 1890 สมัยที่ยังเป็นนักเรียนดนตรีอยู่ แต่เพลงนี้ได้ตีพิมพ์ขายจริงๆ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ผ่านไปเมื่อปี 1905 เหมือนว่าก่อนหน้านั้น มีบางส่วนในเพลงที่เขายังไม่ถูกใจเลยเก็บไว้แก้ไขก่อน เพลงนี้มีทั้งหมด 4 ท่อน ซึ่งเป็น 4 ท่อนที่ไม่ได้มีความเป็น Suite แบบบาโรคเลย มีแต่ชื่อเพลงบางท่อนเท่านั้นที่นำชื่อจาก Suite ของบาโรคมาใช้


คำว่า Bergamasque นี้จริงๆแล้วมาจากคำว่า Bergamask หมายถึงการเต้นรำท้องถิ่นของชาว Bergamo (เมืองในอิตาลีตอนเหนือ) คำนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเพลงนี้ในแง่ของการเต้นแต่อย่างใด Debussy ได้ชื่อนี้มาจากกลอนของ Pual Verlain นักเขียนที่เขาชอบมาก กลอนบทนี้ชื่อ Clair de lune มีประโยคที่เขียนไว้ว่า “Your soul is the landscape where you dance masque and Bergamasque.” แปลว่า จิตวิญญาณของเราคือพื้นที่อันสวยงามที่เราต่างโลดแล่นเต้นรำกัน (masque คือการเต้นรำใส่หน้ากาก และ Bergamasque คืการเต้นรำท้องถิ่น) โดย Debussy ได้นำคำว่า Bergamasque จากการเล่นสัมผัสในกลอนมาใช้เป็นชื่อของเพลงชุดนี้ ส่วน Clair de lune ชื่อของกลอนก็นำมาใช้เป็นชื่อเพลงท่อนที่สามเช่นกัน

จากที่ได้อ่าน เราว่ากลอนนี้ลึกซึ้งนะ มันพูดถึงจิตใจของคนที่ทั้งเศร้า สับสน หรือไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ละคนพากันร้องเพลง เต้นรำ แต่งตัวสวยๆเพื่อหนีความทุกข์ที่กำลังเผชิญ ดวงจันทร์ก็เหมือนกับชีวิตของคนเราที่มองดูสวยงามแต่ขณะเดียวกันก็ดูเศร้าและเหงาด้วยเหมือนกัน

พูดถึงแต่ละท่อนของเพลงบ้าง ท่อนแรก Prelude เป็นเพลงบรรเลงสวยๆไว้สำหรับเปิดงานเต้นรำ สำหรับเรา เราฟังแล้วไม่ได้นึกถึงงานเต้นรำเลยนะ แต่ฟังแล้วนึกถึงท้องฟ้าในตอนกลางคืน ที่ทั้งกว้างใหญ่และมืด แต่ก็มีดาวน้อยๆหลายดวงที่ระยิบระยับ ส่องแสงให้เรามองเห็น เรารู้สึกเหมือนเรานอนดูดาวอยู่ คิดว่าเป็นเพราะคอร์ดและเสียงประสานที่ Debussy แต่งขึ้นนะ ที่ทำให้เกิดเสียงที่มีลักษณะของบางอย่างที่มีประกาย ทำนองในท่อนนี้จะ flow และสวยมาก เหมือนทำให้เราเห็นความสวยของท้องฟ้าด้วยคอร์ดใหญ่ๆและ section ที่มีความละเมียดละไมจะเป็นเหมือนดาว เป็นทำนองเล็กๆเรียงกัน แทรกเข้ามา


ท่อนต่อมา Menuet Debussy ได้เปลี่ยนสไตล์จาก Menuet แบบบาโรคไปมาก มันไม่มี form เพลงที่ค่อนข้างตายตัว แบบเดิมอีกต่อไป เป็นท่อนที่มีชีวิตชีวา ไม่ถึงกับเร็วมาก Debussy เลือกใช้เสียงที่ดูลึกลับมากขึ้น แต่ไม่ได้ลึกลับแบบ น่ากลัวนะ มันพิศวงแบบน่ารัก แล้วก็ใช้ทำนองที่เพราะเข้ามา เปลี่ยนอารมณ์พิศวง เป็นแบบนี้สลับกันทั้งท่อน ที่เราชอบ คือ การนำเสนอ motif (ทำนองหลัก)เดิมของเค้า เค้าทำ ไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง มีการเปลี่ยนเสียงประสานอยู่ตลอด ท่อนนี้เราฟังแล้วนึกถึงสัตว์ตัวเล็กและดอกไม้ที่อยู่ในป่าเต้นรำกัน เหมือนการ์ตูนเรื่อง Fantasia ของ Disney ที่มีดอกไม้และเห็ดเต้นไปมา

สำหรับ Clair de lune เป็นท่อนที่อมตะ เรียกได้ว่าคนเล่นเปียโนและคนชอบเพลงคลาสสิคต้องรู้จัก เพลงนี้ Debussy แต่งเสียงประสานได้เพราะมาก ให้ความรู้สึกถึงแสงและบรรยากาศที่เปลี่ยนไป จากเงียบสงบก็รู้สึกถึงลมพัดอ่อนๆ มีแสงจันทร์ส่องเข้ามา ทุกอย่างรอบตัวดูผ่อนคลาย.. เราไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าบรรยากาศตอนกลางคืนนะ ไม่ได้นึกถึงพระจันทร์ดวงใหญ่ แต่นึกถึงความรู้สึกของตัวเองที่นั่งอยู่ริมทะเลหรือแม่น้ำ ปล่อยความคิดไปกับลมที่พัดมา

ท่อนสุดท้าย Passepied แต่ดิมเป็นเพลงเต้นจังหวะเร็วของบาโรค แต่ Debussy นำมาทำเป็นจังหวะ 4/4 ไม่เน้นเร็วมากเพราะไม่ได้จะให้เต้นอยู่แล้ว แต่ให้รู้สึกถึง movement ไปข้างหน้า เพลงนี้ทำนองในแนวเบสจะให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาอยู่ตลอด ในขณะที่แนวทำนองหลักจะเป็นทำนองเหมือนคนร้องเพลง ทำนองฟังดูพิศวง แต่ก็มีความสวยงามแบบ elegance เราว่าท่อนนี้ฟังแล้วดึงดูดมากๆ แบบรู้สึกอยู่ตลอดว่า เพลงนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน เหมือนมีความไม่แน่ใจอยู่ลึกๆ มันทำให้เราเปิดจินตนาการตัวเองอย่างอธิบายไม่ถูก เรานึกถึงช่วงเวลาที่ฝนตกปรอยๆ เป็นเวลาที่เราชอบทบทวนตัวเอง ครุ่นคิดในความไม่แน่ใจ บางทีก็เหงา บางทีก็สับสน บางทีก็รู้สึกสบายใจ

12 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page