top of page
Search

Romantic Ballet

Updated: Dec 18, 2019

เราเป็นคนที่ชื่นชอบการเต้นบัลเล่ต์ตั้งแต่เด็ก อาจเพราะถูกบังคับให้เรียนที่โรงเรียนตอนประถมด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆคือ ตอนนั้นเราชอบชุดบัลเล่ต์และรองเท้ามาก อยากใส่ตามประสาวัยเด็กผู้หญิงที่ชอบอะไรฟูๆ พองๆ ที่มี character ของความเป็นเจ้าหญิง เราเรียนแค่พื้นฐานและไม่ได้เรียนต่อ แต่ก็ยังชอบดูการเต้นบัลเล่ต์อยู่เหมือนเดิม เมื่อว่างและมีโอกาสเรามักจะไปดูการแสดงบัลเล่ต์อยู่บ่อยๆ ทั้งของเพื่อนสมัยเรียนและของนักเต้นที่ชื่นชอบมากซึ่งในตอนนั้นคือ พี่เบเบ้ ธันย์ชนก ฤทธินาคา

painting by Edgar Degas

บัลเล่ต์ที่เราประทับใจมากคือ บัลเลต์เรื่อง Swan Lake และ The Nutcracker ที่เราได้ดูตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสาธารณรัฐเชค จำชื่อคณะไม่ได้ แต่เป็นการแสดงที่เมือง Brno ใกล้ๆกับเมืองที่เราอยู่ ฉากประกอบและเสื้อผ้ามีความสวยงาม ประณีต และอลังการ รวมทั้งคุณภาพของวงออเคสตร้า ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อยู่ในเทพนิยายจริงๆ นักเต้นที่เป็นนางเอกผู้หญิงเต้นเก่งมากๆ นักเต้นผู้ชายก็เหมือนกัน ทุกคนมีความสามารถและถ่ายทอดท่าเต้นผ่านตัวละครต่างๆได้เป็นอย่างดี เราเคยดูแต่การ์ตูนที่นำเอาเรื่องราวของบัลเล่ต์เหล่านี้ไปทำ แต่ไม่เคยดูบัลเล่ต์ที่เป็นเรื่องราวจริงๆจังๆแบบนี้ในประเทศไทยเลย

The Nutcracker by Vertura County Ballet Company

จนเมื่อเรามาเรียนต่อด้านดนตรี เราถึงได้รู้ว่า บัลเล่ต์นั้นเป็นการแสดงที่พัฒนามาจากการเต้นของราชสำนัก โดยได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในช่วง ศต.ที่ 18 โดยแยกตัวออกมาจากศิลปะพวกละครเพลงช่วงปี 1750 บัลเล่ต์นั้นถูกพัฒนาในหลายประเทศทั่วยุโรปโดยแต่ละประเทศจะมีสำนักและต้นแบบเทคนิคการเต้นของตนเอง มีช่วงหนึ่งที่การแสดงบัลเล่ต์เริ่มห่างหายไป เนื่องมาจากปัญหาการจัดการของคณะต่างๆ รวมทั้งปัญหาขาดแคลนนักเต้นชาย ทำให้การพัฒนาบัลเล่ต์ในหลายประเทศหยุดชะงัก ยกเว้นฝรั่งเศส เดนมาร์ก และรัสเซียที่ยังคงมีการพัฒนาการแสดงบัลเล่ต์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับรัสเซียเป็นประเทศที่เป็นที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากลด้านการศึกษาบัลเล่ต์ เนื่องจากมีการพัฒนาเทคนิคที่สมบูรณ์เป็นของตนเองโดยการนำเอาเทคนิคของอิตาลี ฝรั่งเศสและเดนมาร์กมาผสมผสานกัน เกิดเป็นมาตรฐานของ Russian School ขึ้น ในปี 1909 มีการนำเอาบัลเล่ต์กลับมาแสดงอีกครั้งทั่วยุโรปและประสบความสำเร็จมาก โดยคณะ Ballet Russes ก่อตั้งโดย Serge Diaghilev ชาวรัสเซีย เขาได้รวบรวมนักเต้นเก่งๆ เช่น Vaslav Nijinsky, Anna Pavlova และนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถหลายคนมาร่วมงานด้วย เช่น Ravel, Prokofiev, Stravinsky, Debussy

Swan Lake (Hermitage Theatre) in 2019

สำหรับบัลเล่ต์ Les Sylphides นั้น เป็นหนึ่งในงานบัลเล่ต์ของ Diaghilev ที่ประสบความสำเร็จและยังได้รับความนิยมจนปัจจุบันนี้ เป็นบัลเล่ต์ที่ไม่มีเนื้อเรื่อง แต่เน้นแสดงท่าทางการเต้นที่สวยงาม โดยได้นำ องค์ที่ 2 ของบัลเล่ต์เรื่อง La Sylphide มาดัดแปลง (หลายคนอาจสับสนกับ La Sylphide ได้) theme การแสดงจะเป็นการเต้นรำของชายหนุ่มและภูติหรือนางไม้ โดยเต้นรำกันใต้แสงจันทร์ ที่น่าสนใจคือ ดนตรีที่ใช้ประกอบนั้นเป็นเพลงบรรเลงเปียโนของ Federic Chopin ทั้งหมด 7 เพลง ได้แก่ 1. Prelude in A (op. 28, No. 7) 2. Nocturne in A flat major (op.32, No. 2) 3. Valse in G flat major (op.70, No. 1) 4. Mazurka in D major (op.33, No. 2) 5. Mazurka in C major (op. 67, No. 3) 6. Valse in C sharp minor (op.64, No.2) 7. Valse in E flat major (op.18, No.1)

Les Sylphides (Maryinsky Ballet)

เพลงทั้งหมดนี้ได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่สำหรับวงออเคสตร้า หนึ่งในผู้ประพันธ์ที่ได้ทำการเรียบเรียงคือ Igor Stravinsky ซึ่งเป็นคนที่ Diaghilev ประทับใจในความสามารถและร่วมงานกันในบัลเล่ต์อีกหลายเรื่อง เราเองก็ไม่คิดมาก่อนว่า เพลงเปียโนของ chopin ที่ใครหลายๆคนชอบและประทับใจ จะถูกนำไปเป็นบทเพลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์และมีความเข้ากันกับท่าเต้นอย่างไม่น่าเชื่อ Les sylphides ได้เปิดมุมมองใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่เราชอบทั้งสองสิ่ง ทั้ง ballet และเพลงเปียโนว่า ดนตรีและการเต้นรำที่เราชอบ เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วมันมี ความสวยงามอย่างไร


26 views0 comments
bottom of page