
ดิฉันได้ทำการศึกษาชีวประวัติของ Debussy ความสนใจที่มีต่อศิลปะ ศิลปินเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และแนวคิดทางศิลปะที่เกี่ยวข้องจากหลายแหล่งข้อมูล เพื่อศึกษาว่างานทัศนศิลป์ของศิลปินคนใด ลักษณะใดที่ Debussy ชื่นชอบ รวมทั้งลักษณะดนตรีเบื้องต้นของ Debussy ว่ามีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกับงานทัศนศิลป์อย่างไร สรุปและแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้
1. Debussy และศิลปะ
Claude Debussy เป็นนักประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1862 ที่เมือง St. Germain-en-Laye ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเป็นทหารเรือ ส่วนแม่ทำอาชีพเกษตรกรและค้าขาย ต่อมาช่วงปี 1870 เกิดสงคราม Franco-Prussia พ่อของเขาต้องกลับไปประจำที่กองกำลัง ส่วนเขา น้อง และแม่ ได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Cannes แทน ในช่วงนั้น Claude Debussy มีโอกาสได้เรียนดนตรีกับครูชาวอิตาลีชื่อ Jean Cerrutti ผ่านการแนะนำของป้าของเขา จากนั้นในปี 1871 เขาก็ได้รับการแนะนำจาก Charles de Sivry (French composer) ให้ไปเรียนเปียโนต่อที่ Paris Conservatoire
Debussy ไม่ไปโรงเรียนเหมือนกับน้องๆ เขาเรียนเองที่บ้าน ยกเว้นวิชาดนตรีที่เขาไปเรียน ปีต่อมา 1872 เมื่ออายุ 10 ปี เขาก็สอบเข้าที่ Conservatoire ได้ และเรียนเปียโนกับอาจารย์ Antoine Marmontel นอกจากนี้เขายังเรียนวิชา solfege, harmony, accom อีกด้วย ช่วงปี 1875-76 เขา
ลงแข่งเปียโนหลายการแต่ได้รางวัลเล็กๆ ไม่เหมือนแข่ง accom, solfege ที่ได้รางวัลใหญ่มา หลังจากช่วงนี้เขาพยายามแข่งเปียโนอีกหลายครั้ง เพราะต้องการจะเป็นนักเปียโนอาชีพ แต่เมื่อไม่ได้รางวัล เขาจึงหันมาให้ความสนใจกับการแต่งเพลงแทน โดยเริ่มแต่งเพลงในช่วง ปี 1879
การที่เขาต้องร่ำเรียนหนังสือและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองนั้น ทำให้งานวรรณกรรมและศิลปะ มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของ Debussy เป็นอย่างมาก ความสนใจด้านศิลปะของ Debussy พบได้จากหลักฐานทางจดหมายและบันทึกของเพื่อนของเขาสมัยอยู่ Concervatoire ว่าเขามีความสนใจในทัศนศิลป์และวรรณกรรมมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น Debussy ชอบอ่านและติดตามงานวรรณกรรมอยู่เสมอ ความสนใจนี้ทำให้เขาได้เเรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีสำหรับเพลงของเขาเอง เช่น Proses Lyriques และ Nuits blanches สำหรับภาพวาด Debussy ก็มีความชื่นชอบไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรม เขาเคยบอกกับลูกศิษย์ของเขาว่า “อยากเรียนวาดภาพแทนดนตรี” และเคยกล่าวไว้เช่นกันว่า “เขาชอบภาพวาดมากเท่าๆกับดนตรี” อีกด้วย Debussy ชื่นชอบจิตกรหลายคนมาก ได้แก่ Turner, Goya, the Pre-Rahaelities, Moreau, Whistler, Redon, Degas, Monet และ Hokusai อีกทั้งเขายังได้ติดตามนิตยสาร Pan ซึ่งเป็นนิตยสารศิลปะที่รวบรวมภาพผลงานของเหล่าศิลปินดัง เช่น Khnopff, Vallotten, Munch เขาชอบสะสมภาพวาดและงานศิลปะชิ้นน้อยใหญ่จากประเทศต่างๆ และเขายังได้ตั้งชื่อผลงานเพลงของเขาให้มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะอีกด้วย อาทิเช่น Arabesques, Nocturnes, Images, Estampes เป็นต้น นอกจากนี้เขายังได้ใส่ใจรายละเอียดในการเลือกภาพประกอบปกโน้ตเพลงชุดต่างๆ, การวาดโลโก้ตัวอักษรย่อชื่อตนเอง หรือ แม้กระทั่งวาดภาพปกเพลงชุด Children’s Corner ด้วยตนเอง จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ทราบว่า Debussy เป็นคนที่ชื่นชอบภาพวาด รักศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ



2. ศิลปินที่ Debussy ชื่นชอบและได้แรงบันดาลใจ
ดิฉันได้เลือกศึกษาศิลปิน 3 ท่าน ที่ Debussy ชื่นชอบ มีอิทธิพลต่องานประพันธ์เพลงของเขา และมีผลงานภาพวาดในลักษณะเดียวกันกับบทเพลง
1. Joseph Mallord William Turner (1775-1851)
Debussy ชื่นชอบงานของ J.M.W. Turner มาก ถึงกับยกย่องให้เป็นศิลปินยอดเยี่ยมในการสร้างความลึกลับให้กับศิลปะ เขาได้เดินทางไปลอนดอนในปี 1993 เพื่อชมภาพวาดของ Turner โดยเฉพาะ
Turner เป็นศิลปินชาวอังกฤษ ในช่วงยุคโรแมนติก เขาวาดภาพทิวทัศน์ ปรากฏการณ์ในธรรมชาติ เช่น พายุกลางทะเล หรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ผลงานของเขาได้เป็นรากฐานให้กับแนวคิดศิลปะแบบ Impressionist ในเวลาต่อมา
ลักษณะงานของ Turner นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
1. Early works : เน้นบรรยากาศและการแสดงอารมณ์ของภาพ พร้อมรายละเอียดโครงสร้างของวัตถุ ในช่วงนี้เขามักวาดภาพเหมือนจริงหรือ
เรื่องราวจริง เช่น โบสถ์, คฤหาสถ์, เหตุการณ์ทางการเมือง
2. Middle and late works (หลัง 1880s) : ไม่เน้นโครงสร้างและรายละเอียดของภาพ แต่เน้นบรรยากาศ อารมณ์ โดยให้ความสำคัญกับการใช้แสง (light effect) เป็นหลัก โดยเขาจะอิงจากแสงจริงในธรรมชาติ ภาพวาดจึงมักจะเป็นภาพบรรยากาศต่างๆ ที่ไม่ทราบสถานที่แน่ชัด
Turner พยายามถ่ายทอดความรู้สึกทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นในบรรยากาศและห้วงเวลาต่างๆมากกว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่ปรากฎแก่สายตา ในขณะเดียวกันเขาก็ตั้งใจจะถ่ายทอดอารมณ์ของความเป็นมนุษย์ เช่น ความกลัว, ความเหงา, ความน่าเกรงขาม ด้วย Turner ใช้เทคนิควาดภาพของสีน้ำและสีน้ำมัน สร้างแสงเงาได้อย่างบางเบาและกลมกลืน นิยมใช้สีสันหลากหลาย


2. James Abbott Mcneill Whistler (1834-1903)
Debussy ประทับใจและชื่นชอบผลงานภาพของ Whistler ในเรื่องของการสร้างบรรยากาศ เอกลักษณ์เฉพาะในการใช้สีและการนำเสนอความเรียบง่าย และเขาได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของ Whistler ในการประพันธ์เพลงในผลงาน ชุด nocturnes for orchestra
Whistler เป็นศิลปินชาวอเมริกัน แต่พักอาศัยอยู่ที่อังกฤษ นิยมวาดภาพทิวทัศน์และภาพ portrait ของคน เขาได้แรงบันดาลใจมากจากศิลปะภาพพิมพ์ญี่ปุ่นในเรื่องของลายเส้นและความเรียบง่าย นอกจากนี้ยังนิยมนำชื่อที่เกี่ยวข้องกับดนตรีมาตั้งเป็นชื่อผลงานภาพวาดด้วย อาทิ เช่น Symphony, Harmony Whistler มีแนวคิดในการสร้างผลงานว่า สร้างศิลปะเพื่อศิลปะ กล่าวคือ ศิลปะนั้นมีขึ้นเพื่อถ่ายทอดความงามและความเป็นศิลปะในตัวมันเอง ไม่ได้มีเพื่อจุดประสงค์อื่นใด
ผลงานของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดแบบ abstract และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ศิลปะแบบ Modern Art ในเวลาต่อ
ลักษณะงานของ Whistler
1. เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสีหลักเพียง 2-3 สีเท่านั้นในหนึ่งภาพ โดยนำเสนอทั้งความกลมกลืนและความแตกต่างของสี
2. ไม่ใช้สีโทนสว่าง
3. ระบายด้วยพู่กันหยาบในจุดที่พื้นที่ใหญ่
4. ใช้สีพิเศษ เช่น สีทอง แต่งแต้มเพียงบางจุด เพื่อแสดง effect ของแสง
5. ไม่เน้นวัตถุ แต่เน้นบรรยากาศโดยรวมและอารมณ์ของภาพ
Whistler ต้องการให้คนสนใจแนวคิดและสไตล์การวาดภาพของศิลปินมากกว่าจะสนใจวัตถุหรือสิ่งที่ศิลปินได้วาดไว้


3. Claude Monet (1840-1926)
Monet เป็นศิลปิน Impressionist ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมากและสร้างผลงานภาพวาดอันสวยงามไว้มากมาย โดยผลงานประพันธ์เพลงของ Debussy มักได้รับการเปรียบเทียบจากนักวิจารณ์อยู่บ่อยครั้งว่า เพลงของเขามีความคล้ายคลึงกับลักษณะภาพวาดของ Monet ในเรื่องของ ความคลุมเครือของทำนองและจังหวะที่คาดเดาไม่ได้และการใช้เทคนิคดนตรีที่หลากหลายเพื่อสร้างความรู้สึกทางแสงสี แน่นอนว่า Debussy รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ได้รับคำชมนี้เพราะเขาเองก็ชื่นชอบ Monet มาก แต่อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว Debussy ไม่ได้ตั้งใจให้เพลงของเขาออกมาคล้ายกับภาพวาดใดๆของ Monet เลย เขาเพียงแค่แต่งเพลงจากสิ่งที่เขาคิดและต้องการให้เป็นเท่านั้น
Monet วาดภาพสีน้ำมัน ชอบวาดภาพทิวทัศน์ ธรรมชาติ บรรยากาศนอกบ้าน ลักษณะภาพวาดของเขาจะหยาบๆเหมือนวาดยังไม่เสร็จ แต่มีเอกลักษณ์ด้านการใช้พู่กันและสี โดยเขาให้ความสำคัญกับการสร้างแสงและเงาในภาพเพื่อรักษาอารมณ์และบรรยากาศให้เหมือนธรรมชาติจริง
ลักษณะงานของ Monet
1. ไม่เน้นวาดวัตถุเหมือนของจริง วาดสิ่งต่างๆอย่างคร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียด ขอบเขตไม่ชัดเจน
2. แสดงแสงและเงาที่เกิดขึ้นจริง ระบายตามแนวที่แสงตกกระทบตามธรรมชาติ
3. เน้นองค์รวมและบรรยากาศของภาพ
4. ใช้สีหลากหลาย ส่วนที่ต้องการความมืดจะใช้สีเข้ม ส่วนที่ต้องการความสว่างจะใช้สีที่อ่อน
5. ระบายด้วยพู่กันหยาบๆ ทั้งหนาและบาง
ในภาพรวมแล้ว ลักษณะของภาพวาดที่ Debussy ชื่นชอบ จะมีลักษณะคล้ายๆกัน กล่าวคือ ไม่เน้นรายละเอียดของวัตถุที่ชัดเจน เน้นองค์รวมของภาพ การแสดงบรรยากาศและอารมณ์โดยใช้สีและแสงเงา


3. แนวคิดทางศิลปะที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงเวลาที่ Debussy ยังมีชีวิตอยู่นั้น เกิดแนวคิดและสไตล์ทางศิลปะมากมาย หลายๆแนวคิดได้รับความนิยมและเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้มีแนวคิดทางศิลปะที่ส่งอิทธิพลต่อ Debussy และมักได้รับการเทียบเคียงกับผลงานของเขาอยู่บ่อยๆ ทั้งหมด 2 แนวคิด ได้แก่
1. Impressionist และ 2. Symbolist
Impressionist คือ รูปแบบหรือสไตล์ของศิลปะที่เกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (ประมาณ 1860) เริ่มโดยการรวมตัวกลุ่มศิลปิน เช่น Monet, Renoir, Manet, Degas ซึ่งถือเป็นศิลปินหน้าใหม่ในเวลานั้น ศิลปินกลุ่มนี้มีวิธีการวาดภาพแบบใหม่ที่ต่างจากอดีต โดยมักวาดภาพด้วยพู่กันหยาบๆ ไม่ลงรายละเอียดชัดเจน เน้นการสร้างแสงเงาจากธรรมชาติและให้พิจารณาภาพวาดโดยรวม (ดูภาพทั้งหมด) Debussy เติบโตและมีชีวิตอยู่ในช่วงที่ศิลปะ Impressionist ได้รับความสนใจ เขาจึงได้สัมผัสและมีความประทับใจในผลงานของศิลปิน Impressionist หลายคน
สำหรับแนวคิด Symbolist หรือ แนวคิดสัญลักษณ์นิยม เกิดขึ้นช่วงปี 1886 คือแนวคิดที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมีความหมายและมุมมองที่แฝงอยู่ โดยจะไม่เปิดเผยตรงไปตรงมา เช่น บทกลอนเกี่ยวกับดอกไม้อาจไม่ได้หมายถึงดอกไม้โดยตรง แต่หมายถึงการมีชีวิต หรือ ภาพวาดพระจันทร์ตอนกลางคืนนั้นไม่ได้แสดงแค่บรรยากาศยามค่ำคืน แต่ต้องการแสดงถึงความเหงาด้วย เป็นต้น ดังนั้น เราจะพิจารณาสิ่งต่างๆจากแค่ที่เราเห็นหรือสัมผัสไม่ได้ เราจะต้องเข้าใจความหมายและผลของมันด้วยว่า แท้จริงแล้วสิ่งนั้นสะท้อนมุมมองใดบ้าง ศิลปิน Symbolist ที่ Debussy
ชื่นชอบ คือ Gustave Moreau (จิตรกร) และนักเขียน Symbolist ที่เขาชอบคือ Paul Verlain ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากบทกวีอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีนักเขียน Symbolist อีกสองคนที่มีชื่อเสียงและมีความเกี่ยวข้องกับงานประพันธ์เพลงของ Debussy คือ Stephane Mallarme และ Maurice Maeterlinck
จากการที่ Debussy มีความชื่นชอบในศิลปะที่มีแนวคิดทั้ง 2 แบบ เขาได้สร้างผลงานเพลงที่สะท้อนลักษณะบางอย่างที่ทำให้นักวิจารณ์และผู้คนในช่วงเวลานั้นมักจัดดนตรีของ Debussy ว่า เป็นดนตรีที่มีสไตล์แบบ Impressionist และ Symbolist โดยในหนังสือชีวประวัติของ Debussy เขียนโดย Frederick E. Jensen ได้เปรียบเทียบลักษณะดนตรีของ Debussy กับศิลปะแบบ Impressionist ไว้ดังนี้
1. มีการเรียบเรียงเสียงประสานอย่างมีอิสระ ยืดหยุ่น ไม่ทำตามแบบแผนหรือ form ที่เคร่งครัด บางเพลงมีการประพันธ์ให้คล้ายๆกับการ improvise เปรียบได้กับภาพวาด impressionist ที่ปราศจากโครงร่างหรือเส้นที่ชัดเจน
2. การใช้คอร์ดให้มีน้ำเสียงที่มีลักษณะพิเศษคล้ายกับเกิดแสง (มืด/สว่าง) และสีต่างๆขึ้น โดยแต่ละคอร์ดจะมีเอกลักษณ์ของเสียงเฉพาะตัว และ
ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนกับ Chord progression ในดนตรีคลาสสิคเดิม Debussy นิยมใช้คอร์ดคู่ 9, 11 ที่ไม่ถือว่าเป็นคู่ที่กลมกลืนในสมัยนั้นและให้เสียงที่มีความไม่ชัดเจน ฟังดูคลุมเครือ เปรียบได้กับกับการใช้สีและแสงเงาในภาพวาด impressionist
ดิฉันเห็นด้วยกับข้อมูลดังกล่าวว่าลักษณะดนตรีของ Debussy นั้นมีความคล้ายกับภาพวาดสไตล์ Impressionist หลายประการ เนื่องจากบทเพลงของ Debussy จะไม่สามารถคาดเดาตาม progression form แบบ Classic ได้และลักษณะของทำนองมีความไม่ชัดเจนอยู่ในตัวตลอดเวลา
นอกจากนี้จากงานวิจัยของ Dr. Larisa Elisha ที่ได้ทำการศึกษาเทคนิคการประพันธ์เพลงของ Debussy (Elisha, Larisa. “Giants of French Impressionism in Music and Visual Art: String Quartets by Ravel and Debussy verses famous paintings of Renoir and Monet) ได้อธิบายไว้ว่า ดนตรีของ Debussy มีการใช้เสียงประสานที่ไม่กลมกลืน แต่จะมีความคลุมเครืออย่างเบาบาง เช่น คู่ 4,9,11,13 และวางทิศทางคอร์ดและใ
ช้จังหวะอย่างเป็นอิสระ ไม่เป็นไปตามแบบแผน อีกทั้ง Debussy ยังได้ให้ความสำคัญกับการเลือกน้ำเสียงหรือโทนเสียงของเครื่องดนตรีอีกด้วย ภาพวาดของเหล่า impressionist เช่น Monet, Manet, Renoir และบทกวีของ Verlaine, Baudelaire และ Mallarme ส่งอิทธิพลให้ Debussy สร้างดนตรีแนวใหม่ที่มีความเป็นฝรั่งเศสอย่างชัดเจน โดยดนตรีจะมีลักษณะซ่อนเร้นและเป็นนัยมากกว่าจะมีความชัดเจนตรงๆ ซึ่งความต่อเนื่องของสีสันจะเกิดขึ้นตาม dynamic ของเพลงและความรู้สึกถึงบรรยากาศนั้นๆจะเข้ามาแทนที่
ดิฉันเห็นด้วยกับงานวิจัยนี้ว่า Debussy จะไม่นำเสนอดนตรีอย่างตรงไปตรงมา แต่จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้งานดนตรีของ Debussy มีลักษณะคล้ายกับศิลปะแบบ impressionist ที่เน้นการสร้างบรรยากาศและ symbolist ที่ไม่แสดงออกโดยตรง แต่มี
ความหมายแฝง
อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนี่งที่ดนตรีของ Debussy มีความแตกต่างไปจาก impressionist คือ ดนตรีของเขาค่อนข้างจะพิถีพิถันในการประพันธ์และใส่ใจรายละเอียดมาก เพื่อที่จะให้ได้ effect เสียงแบบที่เขาต้องการ ต่างกับ impressionist ที่จะไม่ได้เน้นรายละเอียดในจุดเล็กจุดน้อยหรือพิถีพิถันกับการระบายสีภาพมากนัก
แม้ว่าลักษณะดนตรีของ Debussy คล้ายกัน แต่ Debussy ไม่ชอบให้เปรียบเทียบดนตรีของเขากับสิ่งใดๆ เพราะเขาแค่ต้องการทำอะไรใหม่ๆ ริเริ่มความคิดใหม่ๆ โดยการสร้างบทเพลงที่แตกต่างออกไปจากแบบแผนเดิม เขาตั้งใจถ่ายทอดดนตรีในฐานะของสัมผัสและความรู้สึกไม่ใช่ภาพใดภาพหนึ่ง เขาจึงไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบดนตรีของเขากับศิลปะแบบใด โดยเขาต้องการให้เพลงของเขาเป็นตัวแทนบรรยากาศหรือลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น ทะเล น้ำไหล หมอกเมฆ แต่ไม่ได้ต้องการให้บทเพลงเป็นตัวแทนของภาพวาดใดๆก็ตาม
Frederick Jensen ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ความสนใจของ Debussy ที่มีต่อศิลปะ ไม่อาจจัดแบ่งได้ด้วยประเภทของแนวคิดศิลปะต่างๆ ว่า เขาชอบสไตล์ impression หรือ symbolist การเชื่อมโยงสไตล์ของศิลปะต่างๆกับงานประพันธ์ของเขาเป็นเพียงวิธีการที่ช่วยให้เราเข้าใจงานของเขามากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถจะนำสิ่งเหล่านี้อธิบายงานและแนวคิดของเขาได้ทั้งหมด การรู้ว่าเขาสนใจศิลปะอย่างไร จะทำให้เรารู้แนวคิดของเขาว่าเขามองดนตรีอย่างไรในภาพรวม และจะทราบว่าเขาได้นำศิลปะอื่นๆที่ไม่ใช่ดนตรีมาเสริมสร้างมุมมองของเขาอย่างไรบ้าง
ดิฉันคิดว่าในฐานะนักดนตรีหรือผู้ศึกษาดนตรีนั้น เราไม่ควรจำกัดผลงานของศิลปินว่าเป็นแบบใดตามความเข้าใจของเราเอง เนื่องจากเราไม่สามารถรับรู้ข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด แต่เราควรทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินให้มากกว่าเดิม เพื่อที่เราจะได้เข้าใจมุมมองที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดและเข้าถึงดนตรีที่ศิลปินสร้างอย่างแท้จริง